วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บ้านเสือโก้ก



พื้นที่ก่อนการมาตั้งนั้นแต่เดิมเต็มไปด้วยป่าดงกว้างขวางหลายพันไร่ มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ ตั้งแต่สัตว์เล็กสัตว์น้อย ลิงค่าง บ่าง ชะนี กระรอก กระแต หมูป่า เก้งกวาง และสัตว์ใหญ่ เช่น แรด และเสือ เป็นต้นที่เชื่อถือได้ว่าเคยมีแรด เพราะปรากฏมีหนองที่เคยมีสัตว์พวกแรดอาศัยอยู่ถึงสองแห่ง

               แห่งแรกบริเวณดอนเจ้าปู่ติดกับสถานีตำรวจภูธรเสือโก้กด้านทิศตะวันออก
แห่งที่สองอยู่ทางทิศเหนือบ้านเสือโก้กทางไปบ้านหนองผือ การที่เชื่อว่าเคยมีเสืออาศัยอยู่เพราะมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ติดกับหมู่บ้านทางทิศเหนือ เรียกชื่อต่อมาจนปัจจุบันนี้ว่าหนองเสือโก้ก ยังมีปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ผู้ที่มาตั้งเป็นหมู่บ้านเสือโก้กนั้นจำชื่อไม่ได้
โดยการพากันอพยพมาจากดินแดนอำเภอ สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สมทบกับชาวบ้านเปลือย อำเภอเมืองร้อยเอ็ดได้เดินทางรอนแรมมาทางทิศตะวันตกเป็นเวลาหลายวัน ได้มาพบพื้นที่แห่งนี้ซึ่งอยู่ในท้องที่ของเมืองวาปีปทุม มีผู้อาศัยก่อนแล้วราว ห้า-หก หลังคาเรือน ให้ชื่อในตอนนั้นว่า บ้านโคกสีนาดี เห็นว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม เกิดความชอบใจทุกคน จึงได้ช่วยกันหักล้างถางป่า สร้างที่อยู่อาศัย ช่วยกันทำไร่ทำนาเรื่อยมา

               การที่ได้ชื่อว่าบ้านเสือโก้ก มีเรื่องที่เล่าติดต่อกันมาว่า วันหนึ่งมีเสือจะมากินน้ำในหนอง พอมาถึงหนองน้ำแห่งนี้ได้พบกับคนที่จะลงอาบน้ำในหนอง เสือตัวนั้นเกิดการตื่นตกใจ “ร้องโฮ้กๆ” วิ่งไป หนองนี้จึงเรียกขนานกันต่อมาว่าหนองเสือร้องโฮ้กขั้นนานเข้าๆ ก็เรียกหนองเสือโก้ก บ้านหนองเสือร้องโฮ้ก ก็พลอยมีชื่อต่อมาอีกว่า “บ้านเสือโก้ก” มาจนทุกวันนี้
สำหรับบุคคลผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ปรับปรุงพัฒนาบ้านเสือโก้กให้มีความเจริญต่อมาภายหลังนั้น ได้แก่ หลวงพ่อโชติ หรือ ซุน ทรงคุณ หรือ ซุน ติกขปัญโญ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสุนทรสาธุกิจในปี พ.ศ. 2407

               พระครูสุนทรสาธุกิจเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2420 บิดาชื่อคำตัน มารดาชื่อผล ต่อมาบิดาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลวงวิเศษ มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน รวม 10 คน ตัวท่านเองเป็นบุตรคนที่ 8 ท่านได้บรรพตเป็นสามเณรเมื่ออายุ 17 ปี ที่วัดบ้านเสือโก้ก โดยมีพระอาจารย์สีดา มูลกิตติ (ต่อมามีชื่อว่าสีดา ประสพศิลป์) เป็นผู้ให้การบรรพชา

               ครั้นอายุได้ 20 ปี พ.ศ. 2429 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระครูอินทวงษาภิบาล วัดคุ้ม เมืองร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่าติกขปญฺโญ มีพระอธิการสอ วัดบ้านหนองไหล เมืองร้อยเอ็ด เป็นพระกรรมวาจารย์พระอธิการคัมภีร์ วัดบ้านบาก เมืองร้อยเอ็ด เป็นพระอนุสาวนาจารย์

               หลายปีผ่านไปผู้คนก็เพิ่มมากขึ้น จนเป็นหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านมีถนนหนทางอาคารสิ่งปลูกสร้างมีมากขึ้น มีโรงเรียนประชาบาล มีหนองน้ำและฝายน้ำล้น และอื่นๆที่เกิดขึ้น เพราะท่านหลวงปู่ซุนในสมัยนั้น ทางวัดก็มีภิกษุสามเณรเพิ่มมากขึ้น กุฏิศาลาการเปรียญ สระน้ำ บ่อน้ำ ในวัดมีขึ้น

               บ้านเสือโก้กได้รับการยกฐานะเป็นตำบลชื่อว่า ตำบลเสือโก้กและผู้ดำรงตำแหน่งกำนันคนแรกนามว่า ขุนพยักฆากำรณ ครั้นนานมามีหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้นถึง 17 หมู่บ้าน ก็มีการแบ่งแยกการปกครองออกไปอีก หนึ่งตำบล คือตำบลหนองแสนเป็นแกนนำ จำนวน 8 หมู่บ้าน

               ปัจจุบันตำบลเสือโก้ก มี 20 หมู่บ้าน บ้านเสือโก้กตั้งอยู่ห่างจากอำเภอวาปีปทุม 16 กิโลเมตร มีโรงเรียนมัธยมศึกษา 1 โรงเรียน คือโรงเรียนเสือโก้กวิทยาสรรค์ โรงเรียนประถมศึกษา 1 โรงเรียน คือโรงเรียนเสือโก้ก

               ราษฏรในหมู่บ้านส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาอาศัยน้ำฝนเป็นอาชีพหลัก นับถือศาสนาพุทธ อยู่กันอย่างบ้านพี่เมืองน้อง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยู่ดีกินดีความสงบปราศจากโจรผู้ร้ายรบกวนชาวบ้านมาหลายปีแล้วจนถึงปัจจุบัน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Whatsapp Button works on Mobile Device only